“หมอยง” เปิดอาการ “โนโรไวรัส” (Norovirus) ระบาดหนักในฤดูหนาวของทุกปี แนะวิธีการดูแลตัวเองป้องกันเชื้อโนโรไวรัส
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ “โนโรไวรัส” (Norovirus) ล่าสุดวันที่ 18 ธ.ค. 2567 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เปิดเผยการระบาดเชื้อ “โนโรไวรัส” ที่กำลังเป็นประเด็นในปัจจุบัน โดยระบุว่า
โนโรไวรัส ไม่ใช่ไวรัสใหม่ รู้จักกันมานานกว่า 50 ปีแล้ว เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เหมือนอาหารเป็นพิษ คือมีคลื่นไส้อาเจียน ปวดมวนท้อง และท้องเสีย พบได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กจนสูงวัย
ไวรัสนี้จะระบาดมากในหน้าหนาวของทุกปี อุณหภูมิยิ่งลดต่ำมากเท่าไหร่ก็จะมีโอกาสระบาดมากเท่านั้น และจะระบาดเป็นกลุ่มก้อน ทำให้ดูคล้ายอาหารเป็นพิษ เช่น การระบาดในโรงเรียน โรงงาน สถานเลี้ยงเด็ก หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป ไวรัสไม่มีความหลากหลายในพันธุกรรมอย่างมาก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นแล้วเป็นได้อีก ถึงแม้จะเป็นปีที่แล้วปีนี้ก็เป็นได้อีก เราศึกษาสายพันธุ์พันธุกรรม มาตลอดเห็นความหลากหลายเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โรคนี้ไม่ทำให้เสียชีวิต ยกเว้นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอมากๆและขาดน้ำอย่างรุนแรง การรักษาส่วนใหญ่ที่ดูแลตามอาการ และให้สารน้ำละลายเกลือแร่ทดแทน ถ้ามากก็ให้น้ำเกลืออยู่โรงพยาบาลสั้นๆ
ไวรัสนี้ไม่มีวัคซีน ไม่มียาต้านไวรัส จึงเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น เชื้อมีความคงทนต่อสิ่งแวดล้อมสูงมาก เพราะเป็นไวรัสที่ไม่มีเปลือกหุ้ม แอลกอฮอล์ไม่สามารถทำลายไวรัสชนิดได้ สารเคมีที่ใช้ทำลายได้ดี จะต้องเป็นสารที่มีองค์ประกอบของคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์ น้ำยาล้างห้องน้ำที่มีส่วนประกอบของคลอรีน น้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนประกอบของคลอรีน
การดูแลป้องกันและการระบายเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะในเรื่องสุขอนามัย ทานอาหารที่สุก ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ
ในสถานที่ที่ระบาด การทำความสะอาดสถานที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะในโรงเรียน โดยใช้น้ำชะล้าง และตามลูกบิดต่างๆ จำเป็นที่จะต้องใช้ถุงมือแล้วเช็ดด้วยน้ำยาที่มีส่วนประกอบของคลอรีน ผ้าอ้อมของเด็กที่ป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วง ก่อนทิ้งควรใส่น้ำยาล้างห้องน้ำ 1-2 หยด หรือควรทิ้งในถุงแดงที่แยกขยะติดเชื้อ