เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม น.ส.อรอนงค์ บุญโต อายุ 57 ปี กรรมการผู้จัดการ บริษัทแห่งหนึ่ง ใน อ.เมือง จ.อุดรธานี ให้สัมภาษณ์เตือนภัยผู้มีบัญชีเงินฝากธนาคาร และใช้แอพพลิเคชั่นในการฝาก-ถอน-โอนเงิน อาจจะถูกมิจฉาชีพดูดเอาเงินจากบัญชีแบบไม่รู้ตัว ที่ได้เกิดขึ้นกับบัญชีธนาคารตนเอง และบัญชีธนาคารของบริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคล ขณะที่ธนาคารฯก็ไม่มีระบบป้องกันที่เข้มแข็ง เป็นไปตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งยังไม่ให้คำแนะนำแก้ไขปัญหา ทำให้ต้องไปแจ้งความเรียกร้องความเป็นธรรมที่ สภ.เมืองอุดรธานี ตำรวจก็ยอมรับเพิ่งเคยเห็นวิธีแบบนี้
น.ส.อรอนงค์ บุญโต เล่าว่า ตนและบริษัท มีบัญชีทำธุรกรรมการเงินกันธนาคาร 5 แห่ง และแอพพลิเคชั่นในโทรศัพย์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา บัญชีธนาคาร A ลูกล็อกทำธุรกรรมไม่ได้ เมื่อเราไปกดปลดล็อก ตามขั้นตอนในแอพพลิเคชั่น โดยเข้าไปแสดงตนตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งมา ซึ่งก็เป็นเบอร์ของธนาคาร A เราก็เข้าไปทำงานได้ตามปกติ มารู้ภายหลังว่าเงินในธนาคาร A ถูกโอนออกไป 4 ครั้ง ครั้งละ 49,999 บาท รวม 199,999 บาท, ธนาคาร B ถูกโอนออกไปเช่นเดียวกัน 4 ครั้ง ครั้งละ 49,999 บาท รวม 199,999 บาท และธนาคาร C ถูกโอนออกไป 40 ครั้ง ครั้งละ 49,999 บาท รวม 1,999,999 บาท โดยทั้ง 3 ธนาคารไม่มีการแจ้งให้ทราบทางอีเมล์ ส่วนอีก 2 ธนาคารไม่มีการโอน
“ไปติดต่อกับธนาคารทั้ง 3 แห่ง ได้รับคำแนะนำจากธนาคาร A และ B ให้ยื่นคำร้องตามแบบฟอร์มที่ธนาคารนั้น ซึ่งธนาคารแจ้งว่าพบการโอนเงินลักษณะผิดปกติจึงระงับการโอนครั้งที่ 5 ตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ธนาคาร C ที่ถูกโอนเงินไปมากที่สุด และไม่แจ้งการโอนทางอีเมล์เช่นกัน และยังปล่อยให้โอนเงินต่อไปอีก จนกว่าจะมาแจ้งตำรวจจึงจะหยุดโอน ยอดเงินจึงสูงถึง 1,999,999 บาท ขณะที่พนักงานของธนาคาร C ไม่ให้คำชี้แนะอะไรเลย ว่าจะต้องเดินกันไปทางไหน ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม ตลอดจนไม่รับเอกสารใดๆ อ้างเป็นคำสั่งของธนาคาร ลักษณะปัดความรับผิดชอบ ถ้าหากยังไม่รับเอกสารของเรา ก็จะส่งไปให้ทางไปรษณีย์ เดินหน้าไปตามขั้นตอน” กรรมการผู้จัดการกล่าวด้วยว่า บัญชีธนาคาร C เป็นบัญชีนิติบุคคล การจะเปลี่ยนแปลงอะไรยากมาก
จะต้องมีหนังสือรับรอง ตราประทับ ลายเซ็นกรรมการ หรือผู้รับมอบอำนาจ หรือกระบวนการขอสเตทเมนท์ การโอนเงินครั้งนี้ก็ต้องทำแบบนี้ แต่กลับปล่อยให้มีการโอนทุก 30 วินาทีรวม 40 ครั้ง ซึ่งก็ขัดกับระเบียบของแบงก์ชาติ พอมาเกิดเรื่องไม่คุยกับเราเลย จรรยาบรรณของธนาคาร คุณมีหน้าที่บริการประชาชน ให้ความปลอดภัย ให้ความน่าเชื่อถือ ต้องมีความรับผิดชอบอย่างน้อยพื้นฐาน เหมือนกับตนทำธุรกิจ เมื่อเกิดอะไรกับลูกค้าเบื้องต้นต้องรับผิดชอบ เพื่อรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
“เงินในส่วนธนาคาร C เป็นเงินของบริษัทฯ ซึ่งเราจะต้องจ่ายเงินเดือนพนักงาน เงินภาษีของลูกค้า ตอนนี้ก็ใกล้จะสิ้นปีแล้ว ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องโบนัสเลย มันก็เดือดร้อนไปหมด จึงอยากจะวิงวอนให้ธนาคารคืนเงินส่วนนั้นให้บริษัท ให้ได้ก่อนปีใหม่จะได้หรือไม่ เพราะเงินนบัญชีเกลี้ยงหมดแล้ว ไม่พอจะจ่ายเงินเดือนพนักงาน” ต่อมา 16.00 น. วันเดียวกัน น.ส.อรอนงค์ บุญโต พร้อมที่ปรึกษา เดินทางเข้าพบ ร.ต.ท.กิติภูมิ อรรควิทยานุกูล รอง สว.ส. สภ.เมืองอุดรธานี เพื่อยืนเอกสารเพิ่มเติมกล่าวหา ธนาคาร A, B และ C ไม่ได้แจ้งการโอนเงินจำนวนดังกล่าว ผ่านทางอีเมล์ตามที่ตกลงและถือปฏิบัติกันมาต่อเนื่อง และกล่าวหาธนาคาร C ไม่ปฏิบัติตามแนวนโยบายการบริหารจัดการ ภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 29 มีนาคม 2566 โดยเฉพาะการโอนเงินหากเกิน 200,000 บาท ต้องมีการยืนยันตัวตนก่อน