ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด “ศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฐ” อดีตนายกเทศฯราชบุรี หลังพบร่ำรวยผิดปกติ 231 ล้านบาท ส่งศาลยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน
วันที่ 9 ม.ค. 2568 นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีร่ำรวยผิดปกติ นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
โดยข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฐ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี เมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี วาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 27 ต.ค. 2553 – 26 ก.ย. 2557 และวาระที่ 2 ระหว่างวันที่ 23 ก.พ. 2558 – 28 เม.ย. 2559
มีรายได้ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2559 รวมกับคู่สมรส เป็นเงิน 6,984,464.87 บาท แต่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ไม่สัมพันธ์กับรายได้ รวมเป็นเงินจำนวน 231,742,807.50 บาท ดังนี้
1. มีเงินฝากในบัญชีเงินฝาก ชื่อบัญชี นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฐ และคู่สมรส และเงินฝาก ในบัญชีเงินฝากชื่อบัญชีคู่สมรส รวมจำนวน 8 บัญชี ที่มีรายการฝากเงินเกินกว่า 200,000 บาท จำนวน 384 รายการ รวมเป็นเงินจำนวน 180,453,667.33 บาท
2. เงินกู้จากธนาคารในชื่อของคู่สมรส จำนวน 1 แห่ง ลดลง เป็นเงิน 48,289,140.17 บาท
3. รถยนต์ยี่ห้อ MERCEDES BENZ ของคู่สมรส ซึ่งเช่าซื้อกับธนาคาร จำนวน 2 คัน รวมมูลค่า 3,000,000 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฐ ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติสืบเนื่องจากการเปรียบเทียบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่อยู่ในชื่อของตนเองและคู่สมรส รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 231,742,807.50 บาท
โดยให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เพื่อสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายในหกสิบวัน โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคห้า
หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 125