ตำรวจไซเบอร์พบมีผู้เสียหายเป็นเยาวชนชายอายุเพียง 17 ปี อาศัยอยู่กับคุณปู่และคุณย่าในพื้นที่ จ.อุดรธานี ได้ถูกกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์หลอกลวงอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ DSI จนสูญเงินกว่า 3.4 ล้านบาท
ตำรวจไซเบอร์ลงพื้นที่ และเข้าพบผู้เสียหายคือ นายรพีภัทร (นามสมมุติ) อายุ 17 ปี พบว่าอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุซึ่งเป็นปู่และย่า ในพื้นที่ อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี จากการสอบถามข้อมูลทราบว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา นายรพีภัทร์ได้อยู่บ้านกับย่าเพียง 2 คน ได้มีสายปริศนาโทรเข้ามาอ้างว่าเป็น เจ้าหน้าที่จาก DSI แล้วหลอกว่าบัญชีธนาคารของนายรพีภัทรเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีฟอกเงิน ของ นายศรัทธา (แอบอ้างชื่อคนเดียวกันกับเคสชาล็อต ออสติน)โดยมิจฉาชีพที่โทรเข้ามานั้น ทราบข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายและแจ้งว่าได้ อายัดบัญชีและปิดการใช้งานแอป Mobile Banking ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายได้
เมื่อผู้เสียหาย ตรวจสอบ ปรากฏว่าบัญชีธนาคารได้โดนอายัดและไม่สามารถเข้าใช้งานแอป Mobile Banking ผ่านทาง โทรศัพท์มือถือได้จริง ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าผู้ที่ติดต่อเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ตัวจริง
จากนั้นมิจฉาชีพให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนทางไลน์แล้ววิดีโอคอลพูดคุย มีคนแต่งกายเป็นตำรวจทั้งชาย และหญิงมาพูดคุยด้วย แล้วแจ้งให้โอนเงินไปตรวจสอบจำนวน 50,000 บาท แต่เนื่องจากผู้เสียหายไม่มีเงิน ในบัญชี มิจฉาชีพจึงบอกให้ไปหาเงินจากบัญชีธนาคารของญาติหรือใครก็ได้ แล้วโอนไปให้ตรวจสอบ ผู้เสียหายและย่าของผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงนำโทรศัพท์ของย่าที่มีแอปพลิเคชันธนาคารและมียอดเงินในบัญชี จำนวน 2 บัญชี โอนเงินไปให้คนร้ายรวม 10 ครั้ง เป็นจำนวน 1,372,311 บาท
ต่อมา ผู้เสียหายได้นำโทรศัพท์ของปู่โอนเงินให้คนร้ายอีก จำนวน 1 ครั้ง เป็นเงิน 46,163 บาท แล้ว ได้นำบัญชีธนาคารอีกบัญชีของย่าซึ่งไม่สามารถโอนผ่านแอปพลิเคชั่นได้ไปปิดบัญชีที่ธนาคาร แล้วนำเงินเข้าบัญชีของผู้เสียหาย ก่อนโอนให้มิจฉาชีพอีก 1 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 1,998,004 บาท รวมความเสียหายที่โอน เงินทั้งสิ้น 3,412,642 บาท ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินเก็บของปู่และย่าของผู้เสียหายที่ได้เก็บมาทั้งชีวิต โดยมิจฉาชีพที่แต่งกายเป็นตำรวจได้วิดีโอคอลตลอดเวลาเพื่อควบคุมสั่งการมิให้คลาดสายตา
เมื่อผู้เสียหายโอนเงินไปหมดแล้ว คนร้ายยังถามหาทรัพย์สินอื่นของผู้เสียหายอีก แล้วข่มขู่ว่าหากมี ให้นำไปจำนองหรือจำนำแล้วนำเงินที่ได้โอนมาตรวจสอบ ผู้เสียหายและย่าจึงรู้ตัวว่าถูกหลอกลวง จึงพากันไป แจ้งความที่ สภ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี
จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ตำรวจไซเบอร์จึงทราบว่า มิจฉาชีพได้แอบอ้างเป็นผู้เสียหาย คือตัว นายรพีภัทร์ แล้วโทรศัพท์ไปที่ธนาคารเพื่อขออายัดบัญชีและขอปิดการใช้งานแอปพลิเคชัน Mobile Banking บนโทรศัพท์มือถือของนายรพีภัทร์ จากนั้นคนร้ายจึงแจ้งให้ นายรพีภัทร์ ลองตรวจสอบ เมื่อ นายรพีภัทร์ตรวจสอบพบว่าบัญชีโดนอายัดและแอปพลิเคชันดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริง จึงได้หลงเชื่อ
ซึ่ง กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)-15 ธันวาคม 2567 พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท.) จึงสั่งการให้ พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไทยประเสริฐ รอง ผบก.สอท.2 รรท.ผบก.สอท.3 และ พ.ต.อ.อภิรักษ์ จำปาศรี ผกก.1 บก.สอท.3 ลงพื้นที่สืบสวนเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย และติดตามจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุโดยเร็ว
ทั้งนี้ พ.ต.อ.อภิรักษ์ ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ทุ่งฝน ให้สอบสวนผู้เสียหายเบื้องต้นตั้งแต่ วันเกิดเหตุ โดยล่าสุดได้ประสาน ผกก.สภ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี เพื่อขอรับโอนคดีมายัง กก.1 บก.สอท.3 เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนแล้ว และจะได้เร่งรัดให้พนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ต้องหามาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ล่าสุด 13 ธ.ค.67 ตำรวจ กก.1 บก.สอท.3 ได้เดินทางไปพบผู้เสียหาย เพื่อให้กำลังใจ แก่ผู้เสียหายและครอบครัวพร้อมกับได้สอบปากคำเพิ่มเติม พร้อมทั้งตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย ทำให้ได้ข้อมูลพยานหลักฐานเช่น ข้อมูลการโทร ภาพคนร้าย คลิปวิดีโอ คลิปเสียง เพื่อนำมาประกอบคดี เพิ่มเติม พ.ต.อ.อภิรักษ์ ยังได้วิดีโอคอลคุยกับผู้เสียหายทั้ง 2 คน ได้แก่ทั้งนายรพีภัทร (ผู้เสียหาย) และย่า ของผู้เสียหาย เพื่อให้กำลังใจและคำมั่นในการเร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดี
โดยแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่า ทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงของตำรวจไซเบอร์เอง ทั้ง พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รรท.ผบช.สอท. และ พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไทยประเสริฐ รอง ผบก.สอท.2 รรท.ผบก.สอท.3 ขอส่งกำลังใจมาให้ และยืนยันว่า “ตำรวจไซเบอร์ทุกนายมีความตั้งใจในการทำคดีอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นที่พึ่งและเยียวยาความเดือดร้อน ของผู้เสียหายทุกราย ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนมีชื่อเสียง บุคคลทั่วไป หรือกลุ่มเปราะบาง จึงขอให้มั่นใจ ในการทำงานของตำรวจไซเบอร์
ด้านพ.ต.อ.สุรพงษ์ กล่าวว่า คดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 9-10 ธ.ค. 67เป็นกรณีที่ถูกหลอกลวงใกล้เคียงกับกรณีของชาล็อต ออสติน โดยแผนประทุษกรรมของกลุ่มคนร้ายกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มที่หลอกลวงชาล็อต ออสติน โดยบัญชีม้าแถวแรกมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนร้ายที่หลอกลวง ตำรวจไซเบอร์อยู่ระหว่างเร่งสืบสวนขยายผลเพื่อติดตามจับกุมผู้ต้องหาในกระบวนการมาดำเนินคดีเพิ่มเติมต่อไป